จิบกาแฟ แลดอย ผ่อกอยม้ง : การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ บ้านขุนช่างเคี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

โดย natthida
วันที่ : 12 ธันวาคม 2566

นักวิจัย มทร.ล้านนา นำโดย นางสาวอำพร กันทา (หัวหน้าโครงการ),นายอิศร์ วัจนสุนทร (ผู้ร่วมโครงการ) และ นางสาวทรรวรีย์ ทิพย์บูรณ์ (ผู้ร่วมโครงการ) คณะอาจารย์สังกัดคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มทร.ล้านนา เชียงใหม่ ได้ดำเนินงานวิจัยและบริการวิชาการ  “โครงการจิบกาแฟ แลดอย ผ่อกอยม้ง : การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ บ้านขุนช่างเคี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่” ผ่านการดำเนินงานภายใต้โครงการ Pre-Talent Mobility ประจำปี 2566 ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวิถีวัฒนธรรมบ้านขุนช่างเคี่ยน ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ภายใต้โครงการได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่ได้แรงบันดาลใจในการเดินทางไปท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่เพื่อทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น จึงเกิดเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนที่ลึกซึ้ง โดยนักท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลาในการทำกิจกรรมกับคนในท้องถิ่นและนำมาในการเกิดความผูกพันระหว่างเจ้าบ้านและนักท่องเที่ยว เป็นการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) และร่วมดำเนินงานแก้ไขปัญหาแก่วิสาหกิจชุมชน โดยนักวิจัย มทร.ล้านนา ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับวิสาหกิจชุมชนที่มีความต้องการพัฒนากิจกรรมทางการท่องเที่ยวจากฐานทรัพยากรของหมู่บ้านและจุดเด่นทางด้านผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่่อยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวบ้านขุนช่างเคี่ยน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวิถีวัฒนธรรมม้ง บ้านขุนช่างเคี่ยน และการเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวิถีวัฒนธรรมบ้านขุนช่างเคี่ยนโดยการจัดอบรมและเจ้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากโครงการดังกล่าว ได้มีการคิด พัฒนา การจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนได้นำโปรแกรมการท่องเที่ยวมาปรับใช้และเป็นการดึงดูด และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว เช่นการจัด โปรแกมการท่องเที่ยว Drink Bird Friendly @ขุนช่าางเคี่ยน ที่เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ ที่มีการเรียนรู้ เดิน เที่ยวเล่น ดูวิถีชีวิตคนในชุมชน ศึกษาดูนก และมีการเรียนรู้เรื่องของกาแฟ การจัดการ การดูแลสวนกาแฟ วิธีเก็บเกี่ยวกาแฟ กิจกรรมการทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยวขุนช่างเคี่ยน และยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย ที่เน้นในเรื่องรักษ์โลก เช่น กิจกรรมส่งเสริมการเก็บขยะของคนในชุมชน และการเรียนรู้เชิงเกษตรอีกด้วย ทั้งนี้ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การเป็นผู้ประกอบการชุมชน (Local Enterprise) แก่บุคลากรในชุมชนเพื่อส่งเสริมศักยภาพวิสาหกิจชุมชน ทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง

โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จและสร้างประโยชน์แก่ธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน และสร้างความรู้ ทำให้เกิดการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมและเกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตและเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตตามไป พร้อมกับการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน