อาจารย์ มทร.ล้านนา ออกแบบอุปกรณ์ตำเส้นใยกัญชง ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

โดย natthida
วันที่ : 12 ธันวาคม 2567

อาจารย์นักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา นำโดย นายมนตรี  แก้วอยู่, ผศ.สมหมาย สารมาท, ดร.อนันต์   วงษ์จันทร์, นายศราวุธ ปัญโญใหญ่, นายอาทิตย์  ปิงมา และ นายอดิศรเทพวงค์ ได้ดำเนินงานวิจัยและบริการวิชาการ  “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเตรียมเส้นใยกัญชงด้วยอุปกรณ์ตำเส้นใย” ผ่านการดำเนินงานภายใต้โครงการ Pre-Talent Mobility ประจำปี 2566 ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง  มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำผ้าใยกัญชง กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง  บ้านแม่สาน้อย  ตำบลโป่งแยง  อำเภอแม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มต้นจากการทำผ้าใยกัญชงเพื่อใช้ในครอบครัวโดยผ้าใยกัญชงนั้นมีความเหนียว ระบายอากาศได้ดีและเป็นวัสดุที่ได้จากธรรมชาติ  เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่บ่งบอกถึงตัวตนของคนม้งได้เป็นอย่างดี และเป็นแหล่งอาชีพสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มชาติพันธ์ เนื่องจากปัจจุบันจากวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ชาวบ้านยังใช้วิธีการเตรียมเส้นใยกัญชงด้วยมือ และไม่มีเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเตรียมเส้นใยกัญชง โดยใช้ต้นกัญชงแบบแห้งทำการลอกเปลือกเส้นใยด้วยมือ และต้องนำมาทำการทุบเส้นใยกัญชงโดยการใช้สากไม้ตำเส้นใยกัญชง หรือทุบเส้นใยให้เกิดความอ่อนตัวเพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการต่อไป ซึ่งทั้งสองกระบวนการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาหลายชั่วโมง ประกอบกับชาวบ้านที่เป็นผู้ตำส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จึงส่งผลให้เหนื่อย ปริมาณงานที่ได้ออกมาน้อย เนื่องจากใช้ระยะเวลาที่นาน และส่งผลต่อปัญหาสุขภาพตามมา จากโครงการดังกล่าวนักวิจัย มทร.ล้านนา ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับวิสาหกิจชุมชนที่มีความต้องการเครื่องมือหรือเทคโนโลยี เครื่องจักร ที่ใช้ในการทุ่นแรง เพื่อให้ประหยัดแรงงานคน ในกระบวนการขั้นตอนของการตำเส้นใย กัญชง เพื่อนำไปสู่กระบวนการต่อไป  นักวิจัยจึงเล็งเห็นความสำคัญเเละเข้ามาช่วยในเรื่องการออกแบบเครื่องจักรที่เข้ามาช่วยในการตำเส้นใยกัญชง ที่จะสามารถลดระยะเวลาในการทุบเส้นใบให้มีความนิ่ม มีประสิทธิภาพที่จะส่งผลให้ได้ปริมาณเส้นใยเพิ่มขึ้น และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน ทั้งนี้ได้มีการวางแผนการพัฒนาต่อยอดโครงการ และแนวทางการพัฒนาเครื่องตำเส้นใยกัญชงให้สามารถทำได้จริง ที่จะส่งผลประโยชน์แก่ชุมชนในอนาคตอีกด้วย